วันนี้ (20 มีนาคม 2563) รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ ม.อ.ตรัง วิจัย ประจำปี 2563 "มุ่งหน้าก้าวไกล พัฒนาวิจัยและนวัตกรรม Moving Forward for Research and Innovation Development" ที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 เพื่อเปิดโอกาสให้ นักวิจัย นักศึกษาและผู้ที่มีความสนใจได้มีโอกาสนำเสนอ เผยแพร่ผลงานการวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ แสดงถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างต่อเนื่อง ของคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรังที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนการสร้างงานวิจัย และงานสร้างสรรค์ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม ประเทศชาติ รวมทั้งระดับภูมิภาค
รองศาสตราจารย์ดร.อุดมผล กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดอย่างกว้างขวางของโรค Co-Vid 2019 ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้ตระหนักถึงการป้องกันการแพร่กระจายของโรค จึงมีแนวทางในการจัดกิจกรรมดังกล่าวให้สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะหากเลื่อนออกไปจะส่งผลกระทบต่อการสำเร็จการศึกษาของนักวิจัยและนักศึกษา จึงยังคงจัดงานไว้ในวันเดิม รูปแบบเหมือนเดิม แต่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เป็นการใช้วิธี Video Conferenceให้คนที่นำเสนอได้มีการพูดคุยกับทางผู้ทรงคุณวุฒิ มีการพูดคุยโต้ตอบ และปรึกษากันได้และสามารถบันทึกเรียกดูในภายหลังได้ ส่วนเนื้อหาการนำเสนอผลงานและการวิพากษ์งานยังคงคุณภาพและความเข้มข้นไว้เช่นเดิม
ด้าน ดร.นิพัฒน์ โพธิ์วิจตร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ได้สร้างความมั่นใจการปรับรูปแบบการนำเสนอผลงานผ่านระบบออนไลน์ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้พยายามในการจัดเตรียมสถานที่ ระบบการนำเสนอผลงาน และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม โดยนักวิจัยทุกท่านยังสามารถนำเสนอผลงาน พูดคุยโต้ตอบกับผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการกระจายของโรคตามประกาศของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีจำนวนผลงานทางวิชาการที่เข้าร่วมนำเสนอ กว่า 100 ผลงาน จาก 7 สาขาวิชา ได้แก่ กลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจ การประกันภัยและการจัดการความเสี่ยง กลุ่มสาขาวิชาการตลาด กลุ่มสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว กลุ่มสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มสาขาวิชาการบัญชี/การเงิน กลุ่มสาขาวิชาการจัดการรัฐกิจและวิสาหกิจ/ การบริหารรัฐกิจ และกลุ่มสาขาวิชาศิลปะการแสดงและการจัดการ แสดงให้เห็นถึงความสนใจและการตระหนักต่อความสำคัญของการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย ค้นคว้า มาเผยแพร่ แลกเปลี่ยน อันจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดให้มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น
ผลงานดีเด่น (Best Paper) การประชุมวิชาการระดับชาติ ม.อ. ตรัง วิจัย ครั้งที่ 9 ประจำปี 2563 สาขาบริหารธุรกิจ/การประกันภัยและการจัดการความเสี่ยง ได้แก่ นางปาริฉัตร หมัดอะดั้มคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จากหัวข้อความสามารถทางนวัตกรรมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พัสดุ สังกัดมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
สาขาการตลาดได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสุธิดา นุริตมนต์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิจากหัวข้อการยอมรับเทคโนโลยีส่งผลต่อความตั้งใจใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในการซื้อสินค้าของผู้สูงอายุในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สาขาการจัดการการท่องเที่ยวได้แก่ นางสาวปณพร อุดมสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จากหัวข้อ การพัฒนามัคคุเทศก์สำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช : กรณีศึกษา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
สาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศได้แก่ นางสาวนันทนี ช่วยชู และคณะสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จากหัวข้อระบบสนับสนุนการตัดสินใจการเลือกรูปแบบการจัดทำโครงงานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ โดยใช้การทำเหมืองข้อมูล
สาขาการบัญชี/การเงิน ได้แก่ นายสี่ทิศ ลิ้นทอง และคณะ การบัญชี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี จากหัวข้อคุณลักษณะนักบัญชีที่พึงประสงค์ของผู้ประกอบการในจังหวัดเพชรบุรี
สาขารัฐประศาสนศาสตร์/การบริหารรัฐกิจ ได้แก่ พ.ต.อ.วัชรพงษ์ พนิตธำรง กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติจากหัวข้ออิทธิพลของสภาพแวดล้อมองค์การที่มีผลต่อการกำหนดแผน ของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
|